เข้าใจหลักสูตรฐานสมรรถนะ

BLOG การศึกษา

สมรรถนะ Competencies คือ ?

สมรรถนะเป็นความสามารถของบุคคลในการใช้ความรู้ ทักษะ เจตคติ และ คุณลักษณะต่าง ๆ ที่ ตนมีในการทำงานหรือการ แก้ปัญหาต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จในระดับ ใดระดับหนึ่ง สมรรถนะแสดงออกทางพฤติกรรม การปฏิบัติที่สามารถวัดและประเมินผลได้ สมรรถนะจึงเป็นผลรวมของความรู้ ทักษะ เจตคติ คุณลักษณะ และความสามารถอื่นๆ ที่ ช่วยให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลประสบความสำเร็จ ในการทำงาน

หลักสูตรฐานสมรรถนะ คือหลักสูตรที่เน้นการวัดผล แบบสมรรถนะแทนการท่องจำเนื้อหา เพียงเพื่อนำมาสอบ เดิม วัดผลจากการจำความรู้ แต่ฐานสมรรถนะวัดผลจากการนำความรู้มาใช้งาน ที่นำมาใช้แทนที่หลักสูตรในปัจจุบันโดยมีฐานคิดของหลักสูตรฐานสมรรถนะ ดังนี้

1. ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนรายบุคคล (Personalization) การเป็นเจ้าของการเรียนรู้และ พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง 

2. พัฒนาให้ผู้เรียนเกิดสุขภาวะ (Well-being) ทั้งในด้านสุขภาพ ความฉลาดรู้ สังคมและอารมณ์อย่าง สมดุล รอบด้านและเป็นองค์รวม โดยยึดหลักความเสมอภาค 

3. พัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต การแก้ปัญหา ในสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และการสร้างประโยชน์ต่อสังคม 

4. พัฒนาผู้เรียนให้รู้เท่าทันและสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและความก้าวหน้า ทางวิทยาการ

การศึกษาฐานสมรรถนะ (Competency - Based Education : CBE)

การศึกษาฐานสมรรถนะ คือ การจัดการศึกษาด้วยระบบหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency Based Curriculum : CBC) การจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะ (Competency – Based Instruction : CBI) และการวัดและประเมินผลฐานสมรรถนะ (competency – Based Assessment : CBA) ซึ่งเป็น การศึกษาที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner Centric) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามความสนใจ ความถนัด และก้าวหน้าไปตามความสามารถของตน โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะหลักที่จำเป็นสำหรับการทำงาน การแก้ปัญหา และการดำรงชีวิต โดยมีลักษณะสำคัญ ดังนี้

1. มุ่งให้ผู้เรียนแสดงความสามารถที่เชี่ยวชาญ เน้นการนำความรู้ไปใช้จริง 

2. กำหนดความคาดหวังไว้สูง และคาดหวังกับผู้เรียนทุกคน 

3. ผู้เรียนรับผิดชอบต่อตัวเองให้ถึงเป้าหมาย สามารถออกแบบการเรียนของตนเองได้ สามารถเรียน
ได้ในสถานที่และเวลาที่แตกต่างกัน โดยการช่วยเหลือ สนับสนุนอย่างยืดหยุ่น ตามลักษณะเฉพาะของผู้เรียน 

4. ผู้เรียนจะได้รับการประเมินเมื่อพร้อม และเป็นการประเมินความก้าวหน้าตามอัตราของตนเอง
เน้นการประเมินที่ท้าทาย เน้นการปฏิบัติด้วยเครื่องมือวัดที่เข้าถึงความเชี่ยวชาญของผู้เรียน

หลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency - Based Curriculum : CBC)

ลักษณะสำคัญของหลักสูตรฐานสมรรถนะ มีดังนี้
1. เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะที่จำเป็นที่ต้องใช้ในการดำรงชีวิต โดยมีการกำหนดสมรรถนะหลักที่เหมาะสมแต่ละช่วงชั้น ให้ครูผู้สอนนำไปใช้เป็นหลักในการกำหนดจุดประสงค์และสาระการเรียนรู้การจัดการเรียนการสอน และการวัดและประเมินผล

2. เป็นหลักสูตรที่ให้ความสำคัญกับพฤติกรรม การกระทำ การปฏิบัติของผู้เรียน มิใช่ที่การรู้หรือมีความรู้เพียงเท่านั้น แต่ผู้เรียนต้องสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ทักษะ เจตคติค่านิยม และคุณลักษณะต่าง ๆในการแก้ปัญหาสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

3. เป็นหลักสูตรที่ใช้ผลลัพธ์ (สมรรถนะ) นำสู่จุดมุ่งหมายการเรียนรู้มิใช่หลักสูตร (เนื้อหาสาระ)นำสู่ผลลัพธ์(สมรรถนะ)

4. เป็นหลักสูตรที่ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของผู้เรียน ครูและสังคม

ลักษณะสำคัญของหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-Based Curriculum)

          หลักสูตรฐานสมรรถนะแตกต่างจาก หลักสูตรปัจจุบันตรงที่ การกำหนดเป้าหมาย จะมุ่งไปที่สมรรถนะของผู้เรียนว่า ผู้เรียน จะต้องทำ อะไรได้ ซึ่งต่างจากหลักสูตร อิงมาตรฐานที่มาตรฐานและตัวชี้วัดจำนวนมากเน้นไปที่ผู้เรียนว่า จะต้องรู้อะไร สรุปได้ว่า หลักสูตรฐานสมรรถนะเน้นทักษะ (Skill) ในขณะที่ หลักสูตรอิงมาตรฐานค่อนข้างเน้นเนื้อหาสาระ (Content) หลักสูตรฐานสมรรถนะจึงเป็นหลักสูตรที่ยึดความสามารถที่ผู้เรียนพึงปฏิบัติได้เป็นหลัก เพื่อประกันว่า ผู้ที่จบการศึกษาระดับหนึ่งๆ จะมีทักษะและความสามารถ ในด้านต่างๆ ตามที่ต้องการ

         ในการศึกษาหลักสูตรฐานสมรรถนะ ได้กำหนดระดับความสามารถของผู้เรียน ซึ่งเป็นพฤติกรรมเชิงคุณลักษณะ ส่วนบุคคลที่แสดงออกให้เห็นถึงการประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะ รวมทั้งพฤติกรรมการทำงานในบทบาทและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้ประสบผลสำเร็จ โดยได้แบ่งระดับความสามารถของผู้เรียนเป็น 4 ระดับได้แก่ ระดับเริ่มต้น ระดับกำลังพัฒนา ระดับสามารถ และระดับเหนือความคาดหวัง

องค์ประกอบสำคัญของหลักสูตร ฐานสมรรถนะ

สมรรถนะหลักที่เรียกว่า Core Competency มีลักษณะเป็นสมรรถนะข้ามวิชาหรือคร่อมวิชา คือ เป็นสมรรถนะที่สามารถพัฒนาให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนได้ ในสาระการเรียนรู้ต่างๆ ที่หลากหลาย หรือสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนา ผู้เรียนให้เรียนรู้สาระต่างๆ ได้ดีขึ้น ลึกซึ้งขึ้น สมรรถนะในลักษณะนี้ กล่าวได้ว่า เป็นสมรรถนะที่มีลักษณะ “content – free” คือ ไม่เกาะติดเนื้อหา หรือไม่ขึ้นกับเนื้อหา ตัวอย่างสมรรถนะประเภทนี้ เช่น สมรรถนะการคิดขั้นสูง สมรรถนะการทำงานแบบรวมพลัง สมรรถนะทักษะชีวิต ซึ่งสมรรถนะเหล่านี้ สามารถใช้เนื้อหาสาระใดๆ ก็ได้ในการพัฒนา เพียงแต่ว่าสมรรถนะบางสมรรถนะ อาจพัฒนาได้ดีกว่าในเนื้อหาบางเนื้อหา

สมรรถนะอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า สมรรถนะเฉพาะSpecific Competencyเป็นสมรรถนะเฉพาะวิชา / สาขาวิชาซึ่งจำเป็นสำหรับวิชานั้นๆ เช่น ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยจะมีสมรรถนะเฉพาะของวิชา เช่น สมรรถนะด้านการพูดในโอกาสต่างๆ สมรรถนะด้านการประพันธ์ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ก็มีสมรรถนะด้านการวาดภาพ การปั้นการประดิษฐ์สาระวิชาต่างๆ จะมีสมรรถนะเฉพาะวิชาของตน ซึ่งมีลักษณะเป็น “ทักษะ” (Skill)
หากผู้เรียนได้รับการฝึกทักษะจนสามารถใช้งานได้ และสามารถประยุกต์ใช้ทักษะนั้น

ระดับของสมรรถนะ

สมรรถนะทั้ง 2 ประเภท ไม่ว่าจะเป็นสมรรถนะหลัก หรือสมรรถนะเฉพาะ ต่างก็มีระดับตั้งแต่ง่ายไปยาก ซึ่งหลักสูตรจะกำหนดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แบบไต่ระดับ ไปตามระดับความสามารถของตนตัวอย่างเช่น สมรรถนะหลักด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งก็คือ การคิดที่มีการใช้วิจารณญาณพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนการตัดสินใจ การคิดอย่างมีวิจารณญาณสำหรับผู้เรียนในระดับประถมศึกษาจะเริ่มต้นตั้งแต่ระดับง่าย คือ สามารถคิดจำแนกข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงและเป็นข้อคิดเห็นก่อน ต่อไปจึงเพิ่มระดับให้กว้างขึ้น ครอบคลุมมากขึ้น

การวัดและประเมินผลฐานสมรรถนะ (Competency–Based Assessment: CBA)

ลักษณะสำคัญของการวัดและประเมินผลฐานสมรรถนะ มีดังนี้
1. มุ่งวัดสมรรถนะอันเป็นองค์รวมของความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณลักษณะต่าง ๆ ไม่ใช้เวลามากกับการสอบวัดตามตัวชี้วัดจำนวนมาก

2. วัดจากพฤติกรรม/การกระทำ/การปฏิบัติ ที่แสดงออกถึงความสามารถในการใช้ความรู้ ทักษะเจตคติ และคุณลักษณะต่าง ๆ ตามเกณฑ์การปฏิบัติ (Performance Criteria) ที่กำหนดเป็นการวัดอิงเกณฑ์มิใช่อิงกลุ่มและมีหลักฐานการปฏิบัติ (Evidence) ใช้ตรวจสอบได้

3. ใช้การประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assessment) จากสิ่งที่ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง และความก้าวหน้าในการปฏิบัติงาน เช่น การประเมินจากการปฏิบัติ (Performance Assessment) หรือการประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio Assessment) รวมถึงการประเมินตนเอง (Student Selfassessment) และการประเมินโดยเพื่อน (Peer Assessment)

4. ใช้สถานการณ์เป็นฐาน เพื่อให้บริบทการวัดและประเมินเป็นสภาพจริงมากขึ้น เช่น อาจเตรียมบริบทเป็นข้อความ รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว สถานการณ์จำลอง หรือสถานการณ์เสมือนจริงในคอมพิวเตอร์ซึ่งสามารถประเมินได้หลายประเด็นในสถานการณ์เดียวกัน

5. ผู้เรียนได้รับการประเมินไปตามลำดับขั้นของสมรรถนะที่กำหนด หากไม่ผ่านจะต้องได้รับการซ่อมเสริมจนกระทั่งผ่านจึงจะก้าวไปสู่ลำดับขั้นต่อไป

6. การรายงานผล เป็นการให้ข้อมูลพัฒนาการและความสามารถของผู้เรียนตามลำดับขั้นที่ผู้เรียนทำได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด

การจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะ (Competency–Based Instruction)

ลักษณะสำคัญของการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะ มีดังนี้

1. การเรียนการสอนที่มีจุดประสงค์การเรียนรู้ฐานสมรรถนะเป็นเป้าหมาย คือ มุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณลักษณะต่าง ๆ อย่างเป็นองค์รวมในการปฏิบัติงานการแก้ปัญหา และการใช้ชีวิต

2. การเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง เรียนรู้เพื่อให้สามารถใช้การได้จริงในสถานการณ์ต่าง ๆในชีวิตจริง เป็นการเรียนเพื่อใช้ประโยชน์ไม่ใช่การเรียนเพื่อรู้เท่านั้น

3. การเรียนการสอนเน้น “การปฏิบัติ” โดยมีชุดของเนื้อหาความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณลักษณะที่จำเป็นต่อการนำไปสู่สมรรถนะที่ต้องการ จึงทำให้สามารถลดเวลาเรียนเนื้อหาจำนวนมากที่ไม่จำเป็น เอื้อให้ผู้เรียนมีเวลาในการเรียนรู้เนื้อหาที่จำเป็นในระดับที่ลึกซึ้งขึ้น และมีโอกาสได้ฝึกฝนการใช้ความรู้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะในระดับชำนาญหรือเชี่ยวชาญ

4. การเรียนการสอนที่มีการบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์ ความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานใดงานหนึ่ง จะได้รับการนำไปใช้เพื่อความสำเร็จของการปฏิบัติงาน การเรียนการสอนเป็นการบูรณาการมากขึ้น

5. ผู้เรียนสามารถใช้เวลาในการเรียนรู้ และมีความก้าวหน้าในการเรียนรู้ไปตามความถนัดและความสามารถของตน สามารถไปได้เร็ว-ช้าแตกต่างกันได้

6. การให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ผู้เรียนเพื่อการปรับปรุงพัฒนา เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะประสบความสำเร็จ

การตั้งวัตถุประสงค์เชิงสมรรถนะ

ในการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะนั้น ครูจะมีมาตรฐานสมรรถนะและจุดประสงค์การเรียนรู้เชิงสมรรถนะที่จัดไว้อย่างเป็นลำดับ เป็นกรอบในการจัดการเรียนการสอน ครูมีเป้าหมายที่จะช่วยพัฒนาให้ผู้เรียนทำอะไรได้(ในระดับที่กำหนด) ครูจะต้องวิเคราะห์ว่า ผู้เรียนจำเป็นต้องรู้อะไร จึงจะช่วยให้ทำสิ่งนั้นได้ ซึ่งเอื้อให้มีการบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์และลดสาระการเรียนรู้ที่ไม่จำเป็น ผู้เรียนต้องได้รับความรู้และฝึกใช้ความรู้ในการทำรวมทั้งพัฒนาคุณลักษณะที่ควรจะต้องมีในการทำสิ่งนั้น ให้ประสบผลสำเร็จได้ในระดับที่กำหนด ครูจัดการเรียนรู้เชิงรุก ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการคิด การปฏิบัติการลงมือทำการได้รับข้อมูลย้อนกลับ การปรับปรุง พัฒนา และได้รับการส่งเสริมให้นำความรู้ ทักษะ และคุณลักษะที่ได้เรียนรู้ ไปใช้ในสถานการณ์ต่างๆ จนเกิดสมรรถนะในระดับที่ต้องการ โดยผู้เรียนแต่ละคน อาจจะใช้เวลาในการเรียนรู้มากน้อยแตกต่างกันได้

จุดแข็งของหลักสูตรฐานสมรรถนะ

1. ช่วยให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาสมรรถนะหลักที่สำคัญต่อการใช้ชีวิต การทำงาน และการเรียนรู้ซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพในโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

2. ช่วยให้การจัดการเรียนรู้ มุ่งเป้าหมายไปที่การพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะที่ต้องการ มิใช่มุ่งเป้าไปที่การสอนเนื้อหาความรู้จำนวนมาก ซึ่งไม่จำเป็นหรือเป็นประโยชน์แก่ผู้เรียน

3. ช่วยลดสาระการเรียนรู้ที่ไม่จำเป็น อันส่งผลให้สถานศึกษามีพื้นที่ในการจัดการเรียนรู้อื่นที่เป็นความต้องการที่แตกต่างกันของผู้เรียน วิถีชีวิต วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และบริบทได้มากขึ้น

4. ช่วยลดภาระและเวลาในการสอบตามตัวชี้วัดจำนวนมาก การสอบวัดสมรรถนะหลักของผู้เรียนช่วยให้เห็นความสามารถของผู้เรียน ช่วยให้เห็นความสามารถที่เป็นองค์รวมของผู้เรียน

5. กรอบสมรรถนะหลักของหลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นสมรรถนะขั้นต่ำที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนทุกคน เป็นสมรรถนะกลางที่เอื้อให้สถานศึกษาที่มีศักยภาพ สามารถออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสมกับความต้องการและบริบทของตนได้ โดยยึดสมรรถนะกลางเป็นเกณฑ์เทียบเคียง เป็นการส่งเสริมให้เกิดรูปแบบหลักสูตรที่หลากหลาย

จุดอ่อนของหลักสูตรฐานสมรรถนะ

1. ผู้เรียนได้รับเนื้อหาสาระน้อยลง
2. ผู้สอนจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจและทักษะที่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะหลักที่ต้องการพัฒนาให้แก่ผู้เรียน จึงจะสามารถจัดการเรียนการสอนได้ดี
3. ผู้สอนจำเป็นต้องปรับตัวและจัดระบบการสอนจากแบบ “One Size Fits All” มาเป็นระบบการสอนที่ตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล (Differentiated Instruction)
4. หากระบบการวัดและประเมินสมรรถนะไม่มีประสิทธิภาพ จะทำให้ขาดข้อมูลระดับสมรรถนะของผู้เรียน ที่จะเป็นฐานในการออกแบบการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนได้ ตลอดจนขาดข้อมูลที่จะช่วยให้ครูวินิจฉัยเพื่อการส่งเสริมหรือช่วยเหลือผู้เรียนได้
5. เนื้อหาสาระ และสื่อการเรียนการสอน จำเป็นต้องมีการพัฒนาให้ทันสมัยและทันเหตุการณ์อยู่เสมอจึงจะช่วยให้ผู้เรียนได้ประยุกต์ใช้ความรู้ได้อย่างมีคุณภาพถนะอย่างง่าย ๆ