4.4 การเล่าเรื่องราวจากข้อมูล

เทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ) ม.5

การทำเนื้อหาหรือความรู้ ให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถถ่ายทอดหรือสื่อสารไปยังผู้อ่าน หรือผู้ฟังได้อย่างน่าสนใจ รวมทั้งเข้าใจในสิ่งที่ผู้เขียนหรือผู้สร้างเนื้อหานั้น ๆ ต้องการสื่อสารออกมา คงไม่ใช่เพียงแค่การรายงานผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากข้อมูล หรือข้อเท็จจริงที่ได้เก็บรวบรวมมา โดยผ่านการวิเคราะห์และประมวลผล จนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นภาพ กราฟ หรือแผนภูมิแบบต่างๆ การที่จะประสบผลสำเร็จในการสื่อสารผลลัพธ์ไปสู่ผู้รับได้นั้น จำเป็นต้องมีกลวิธีในการเล่าเรื่องราว (story) เพื่อเชื่อมโยงหรือสื่อสารให้เข้ากับผลลัพธ์ของข้อมูล และทำให้ผู้รับสารอยากอ่านเรื่องราวนี้จนจบ และมีความเข้าใจตรงตามความต้องการของผู้สร้างเนื้อหา

การนำเสนอเนื้อหาให้ผู้อื่นรับทราบ และประสบความสำเร็จ อาจใช้วิธีการนำเสนอ 4 รูปแบบ ดังนี้

 

1. แบบตู้กดน้ำ เปรียบเสมือนการพูดคุยในขณะกดน้ำ ซึ่งจะมีเวลาในการสนทนากันเพียงแค่ช่วงสั้นๆ  การนำเสนอเนื้อหา ความรู้ในลักษณะนี้ จึงเทียบได้กับการสรุปเนื้อหาที่มีปริมาณมาก หรือยากในการทำความเข้าใจให้เหลือแต่ใจความสำคัญ และอธิบายหรือสื่อสารด้วยภาพ ตัวอย่างเช่น การทำข้อมูลให้เป็นภาพ กราฟ หรือแผนภูมิ

2. แบบร้านกาแฟ เปรียบเสมือนการพูดคุยกันในร้านกาแฟ หรือหากเป็นวัยของนักเรียนก็เหมือนกับการนั่งคุยกันในร้านไอศกรีม ซึ่งมีเวลาในการสนทนามากยิ่งขึ้น และอาจมีการเล่าเรื่องราวระหว่างกัน เนื้อหาที่ต้องการนำเสนอมีความยาวหรือรายละเอียดของเนื้อหามาก ดังนั้น ต้องมีการดำเนินการในการเล่าเรื่องราวของเนื้อหาดังกล่าวให้อยู่ในความสนใจของผู้ฟัง

3. แบบห้องสมุด เปรียบเสมือนการเข้าศึกษาเนื้อหาในห้องสมุดที่มีเอกสารตำราวิชาการ งานวิจัย และต้องค้นคว้าเชิงลึกในสิ่งที่ตนเองสนใจ ดังนั้น การนำเสนอเนื้อหาในลักษณะนี้จึงเป็นการนำเสนอเนื้อหาที่ต้องให้ผู้อ่านมีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหา และเกิดความอยากศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความเข้าใจเชิงลึกมากขึ้น

4. แบบห้องทดลอง เปรียบเสมือนการทดลอง และลงมือปฏิบัติการในห้องทดลอง ซึ่งจะได้รับประสบการณ์จากการที่ได้ลงมือปฏิบัติจริง การนำเสนอเนื้อหาในรูปแบบนี้จึงมีลักษณะของการให้ผู้อ่านมีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาและยังสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแบ่งปันสิ่งที่ตนเองทราบให้กับผู้อื่น

 

การสื่อสารหรือเล่าเรื่องราวจากผลลัพธ์ของข้อมูล ให้มีความน่าสนใจ เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้ฟัง และสามารถจดจำเรื่องราวที่เล่าได้อย่างยาวนาน (long-term memory) การเล่าเรื่องราวด้วยข้อมูล เหมือนกับการเล่าเรื่องราวในภาพยนตร์หรือละคร ที่ต้องมีจุดเริ่มต้น จุดกึ่งกลางของเรื่อง มีฉากตื่นเต้นเร้าใจ หรือจุดเข้มข้นของเรื่อง และจุดจบของเรื่อง

 

ยกตัวอย่าง

การเล่านิทาน เรื่องสังข์ทอง

“ณ เมืองแห่งหนึ่ง มีพระมเหสีคลอดลูกออกมาเป็นหอยสังข์ ทำให้ถูกนางสนมเอกใส่ร้ายว่าเป็นกาลกิณีของบ้านเมือง พระราชาจึงขับไล่มเหสีและลูกน้อยหอยสังข์ออกจากเมืองไป…

พระสังข์ขโมยรูปเงาะจากนางยักษ์และเดินทางมาถึงเมืองของท้าวสามล รจนาเห็นรูปทองที่ซ่อนอยู่ในรูปเงาะจึงเสี่ยงมาลัยไปให้เจ้าเงาะแข่งหาเนื้อหาปลา เขยทั้งหกถูกตัดปลายหูและปลายจมูกแลกกับเนื้อและปลาของเจ้าเงาะ  เจ้าเงาะแข่งตีคลีกับพระอินทร์เจ้าเงาะถอดรูปเป็นพระสังข์และสู้กับพระอินทร์จนชนะท้าวสามลจึงยอมรับพระสังข์กลับเข้าเมือง และจัดพิธีอภิเษกให้กับพระสังข์และนางรจนา”

 

นิทานเรื่องนี้ เป็นการเล่าเรื่องถึงวิถีชีวิตคนไทยในสมัยโบราณ แฝงความมหัศจรรย์ที่คนออกลูกเป็นหอยสังข์ พระเอกเป็นพระสังข์รูปงาม หน้าตาดี แต่ซ่อนตัวไว้ภายใต้รูปเงาะป่าตัวดำบ้าใบ้ ในเรื่องเจ้าเงาะมีการแข่งขัน การแพ้ชนะ เพื่อเพิ่มเติมสีสันของเรื่อง และสอดแทรกเนื้อหาที่เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการดูคนไม่ควรดูแค่หน้าตาภายนอก แต่ต้องดูถึงจิตใจของคนคนนั้นด้วย

ดังนั้นสิ่งสำคัญของการเล่าเรื่อง เนื้อเรื่องจะต้องมีลำดับ มีหัวข้อ มีโครงสร้างที่ร้อยเรียงเรื่องราวให้ต่อเนื่อง วิธีการหนึ่งที่ใช้ในการลำดับเรื่องราว คือ เล่าเรื่องตามลำดับของเหตุการณ์ ตามช่วงเวลา หรือใช้การนำผู้ฟังเข้าสู่ตอนจบของเรื่องก่อน แล้วค่อยเล่าเรื่องตามลำดับ