2.4 ข้อมูลส่วนบุคคล

เทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ) ม.5

ข้อมูลส่วนบุคคล หมายถึง ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวของบุคคล เช่น การศึกษา ฐานะการเงินประวัติสุขภาพ ประวัติอาชญากรรม ประวัติการ
ทำงาน หรือประวัติกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีชื่อของบุคคลนั้นหรือมีหมายเลขรหัส หรือสิ่งบอกลักษณะอื่นที่ทำให้รู้ตัวบุคคลนั้นได้ เช่น ลายพิมพ์นิ้วมือ ข้อมูลลักษณะเสียง หรือรูปถ่ายข้อมูลเหล่านี้ถ้ามีผู้อื่นทราบนอกจากเจ้าของข้อมูลแล้ว อาจทำให้สามารถปลอมแปลงตัวตนของเราได้ จึงต้องระมัดระวังไม่ให้คนอื่นนำไปใช้ได้ ข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้อาจมีมูลค่าทางธุรกิจ เช่น บริษัทสินเชื่อสามารถใช้ข้อมูลฐานะการเงินเพื่อนำเสนอ
ผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าอาจสนใจ

ถ้าบริษัทขายยามีข้อมูลประวัติสุขภาพก็อาจจะเลือกโฆษณายาที่เกี่ยวข้องกับประวัติความเจ็บป่วยของเจ้าของข้อมูล ข้อมูลส่วนบุคคลหลายอย่างอาจบ่งชี้ถึงทัศนคติและความเชื่อ ยกตัวอย่างเช่น ในระบบเครือข่ายสังคมข้อมูลการกด Like ต่อเรื่องต่าง ๆ สามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าประเด็นเชิงสังคมด้านใดที่เจ้าของข้อมูลสนใจ ถ้าทีมงานหาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ ก็จะสามารถออกแบบการโฆษณานโยบายของผู้สมัครให้ดึงดูดเจ้าของข้อมูล และอาจจะทำให้เจ้าของข้อมูลตัดสินใจเลือกผู้สมัครของพรรคนั้นในการเลือกตั้งได้

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ให้บริการจะต้องเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเป็นความลับ อย่างไรก็ตามในบางกรณีข้อมูลอาจถูกเข้าถึงโดยบุคคลภายนอกได้ เนื่องจากความผิดพลาดของการรักษาความปลอดภัย หรือความผิดพลาดและประมาทเลินเล่อของเจ้าของข้อมูลเองยกตัวอย่างเช่น กรณีของบริษัทหนึ่ง ที่ใช้เกมคำถามในระบบเฟซบุ๊ก เพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้และเพื่อนของผู้ใช้ เพื่อนำไปวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้มีผลกระทบถึงผู้ใช้กว่า 87 ล้านคนทั่วโลก และบริษัทหาเสียงของพรรคการเมืองหนึ่ง ก็นำข้อมูลนี้ไปใช้ประโยชน์ในการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา ในปีค.ศ. 2016