แฟ้มสะสมผลงานโดนใจ

เทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ) ม.6

การทำแฟ้มผลงาน (Portfolio)

แฟ้มผลงาน เป็นเอกสารที่รวบรวมหลักฐานที่แสดงถึงความสามารถและผลงานของบุคคลเพื่อใช้ในการนำเสนอประกอบการพิจารณาการประเมินการทำงาน การสมัครเข้าเรียน หรือการสมัครเข้าทำงาน

ขั้นตอนการทำแฟ้มผลงาน

  1. รวบรวมผลงาน
  2. จัดหมวดหมู่
  3. คัดเลือกผลงาน
  4. จัดลำดับความน่าสนใจของผลงานและประเมินตนเอง
  5. ลำดับและร้อยเรียงเรื่องราวให้น่าสนใจ
  6. ตรวจทาน

1. รวบรวมผลงาน

               ผลงานในที่นี้เป็นชิ้นงานหรือผลงานที่สร้างหรือพัฒนาขึ้น ซึ่งบ่งบอกถึงความสามารถของเจ้าของผลงาน เช่น ภาพวาด สิ่งประดิษฐ์ วีดิทัศน์โครงงานวิชาการ งานอดิเรก โดยชิ้นงานเหล่านี้อาจเคยนำไปประกวดหรือส่งอาจารย์ในชั้นเรียนการนำผลงานไปใส่แฟ้มผลงาน อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนผลงานให้สามารถนำเสนอในรูปแบบภาพได้ ซึ่งบางชิ้นงานอาจทำได้ยาก เช่น งานแต่ง เพลงหรือร้องเพลง ก็อาจนำภาพที่เกี่ยวข้องมาประกอบได้ เช่น โน้ตเพลงบนบรรทัด 5 เส้น หรือ ภาพถ่ายขณะร้องเพลง

2. จัดหมวดหมู่

              การจัดหมวดหมู่ สามารถทำได้หลายลักษณะ เช่น จัดผลงานเป็นกลุ่มของการเรียนกีฬา ดนตรี และคุณธรรมจริยธรรม หรืออาจจะจัดเป็นกลุ่มวิชาการ งานอดิเรก ศิลปะและวัฒนธรรมโดยแต่ละหมวดหมูไม่ควรมีเรื่องที่ซ้ำกัน เช่น หากงานอดิเรกเป็นการวาดภาพ ก็ไม่ควรที่จะแยกศิลปะออกจากงานอดิเรก การเลือกหมวดหมู่ที่ดีต้องสามารถนำเสนอตัวตนของเจ้าของผลงานในส่วนที่สำคัญได้

3. คัดเลือกผลงาน

               ผู้นำเสนอควรที่จะคัดเลือกผลงานที่ดีที่สุดไม่เกิน 3 ชิ้น ต่อหนึ่งหมวดหมู่ หากในหมวดหมู่นั้นมีผลงานมาก อาจทำเป็นภาพเล็กรวบรวมงานที่เหลือในหน้าเสริมของแฟ้มผลงาน

4. จัดลำดับความน่าสนใจของผลงานและประเมินตนเอง

              หลังจากคัดเลือกผลงาน จะเห็นภาพได้ชัดขึ้นว่าเรามีผลงานเด่นในด้านใด หรือยังขาดผลงานในด้านใด ขั้นตอนนี้อาจจัดลำดับความน่าสนใจของแต่ละหมวดหมู่จากผลงานที่มี ซึ่งจะทำให้เข้าใจตัวตนของเรามากขึ้น และประเมินได้ว่าเราควรยื่นแฟ้มผลงานเพื่อเข้าศึกษาในสาขาใดหรือทำงานในหน่วยงานใด

5. ลำดับและร้อยเรียงเรื่องราวให้น่าสนใจ

              ในการลำดับเรื่องราวเพื่อเลือกผลงานเข้าแฟ้ม ควรคำนึงว่า ผู้ที่ประเมินต้องการเห็นอะไรในแฟ้มผลงาน เช่น หากต้องการเข้าเรียนสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ควรนำเสนอผลงานที่เกี่ยวข้องไว้ในส่วนแรก เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในการเข้าเรียนสาขาที่ต้องการ แล้วอาจตามด้วยประกาศนียบัตรชนะเลิศการขับเสภาระดับประเทศ ซึ่งเป็นความสามารถในด้านอื่น เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการทำสิ่งอื่นที่สนใจให้สำเร็จในระดับสูง

               นอกจากนี้เราต้องสร้างความประทับใจและทำให้เป็นที่จดจำ โดยการนำเสนอเรื่องราว เช่น อาจจะมีเรื่องราวว่า ปกติแล้วเราไม่ใช่คนชอบการขับเสภา แต่ชอบเรียนวิทยาศาสตร์มากกว่าวันหนึ่งได้ทำผิดกฎ และถูกลงโทษให้ขับเสภาโดยครูสอนขับเสภาแม้จะรู้สึกต่อต้านในตอนแรก แต่พอได้ลองแล้ว ครูชมว่ามีทักษะสามารถขับเสภาได้ดี จึงเริ่มตั้งใจฝึกหัด จนได้รางวัลชนะเลิศระดับประเทศในที่สุด จะเห็นได้ว่า การบอกกล่าวเพียงว่าเราเคยชนะเลิศระดับประเทศ อาจไม่เป็นที่น่าจดจำได้เท่ากับเรื่องราวที่ถูกร้อยเรียงถึงที่มาของการได้รับรางวัล

6. ตรวจทาน

            นอกจากตรวจทานตัวสะกดและความถูกต้องแล้ว ควรแบ่งการตรวจทานเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกให้ตรวจทานว่า แฟ้มผลงานตรงกับตัวตนของเรา และความต้องการของผู้อ่านหรือไม่และในส่วนที่สอง ให้ผู้อื่นช่วยตรวจทานเรื่องราว การดำเนินเรื่องว่าเป็นที่น่าประทับใจแก่ผู้อ่านหรือไม่

              การทำแฟ้มผลงาน เป็นการรวบรวมผลงานเพื่อนำเสนอต่อมหาวิทยาลัย บริษัท หรือผู้ว่าจ้าง ประกอบการพิจารณารับเข้าศึกษาต่อ เข้าทำงาน หรือจ้างงาน เป็นแฟ้มที่แสดงให้เห็นว่าตัวตนของเราเหมาะสมกับความต้องการของผู้อ่าน ซึ่งบางครั้ง เราอาจยังมีผลงานไม่เพียงพอที่จะนำเสนอตัวตนในด้านที่เราต้องการได้สมบูรณ์ จึงควรรีบทำแฟ้มผลงานล่วงหน้า เพื่อวิเคราะห์ว่าขาดผลงานด้านใด จะได้เร่งสร้างผลงานในด้านนั้นเพิ่มเติม

ข้อควรระวังในการแบ่งปันข้อมูล

ไม่มีความลับในสังคมออนไลน์

               แม้ในขณะที่แบ่งปันข้อมูล เราเข้าใจว่า เป็นการแบ่งปันข้อมูลในเฉพาะกลุ่มเพื่อน หรือกลุ่มที่คิดว่าไว้ใจได้ แต่ข้อมูลดิจิทัลนั้น เป็นข้อมูลที่ทำซ้ำได้ง่ายคนในกลุ่มที่เราแบ่งปันอาจคัดลอกข้อมูลนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ รวมทั้งอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทำให้ข้อมูลกลายเป็นข้อมูลสาธารณะ

ข้อจำกัดของSocial networks เครือข่ายสังคมออนไลน์ - Social Network

ข้อมูลบางชนิดไม่ควรเปิดเผย

             ข้อมูลด้านสุขภาพ ด้านการเงิน หรือหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนเป็นข้อมูลที่ต้องระวัง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของตนเอง หรือของผู้อื่นก็ตาม เพราะเป็นข้อมูลที่ผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถนำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ได้

ข้อมูลบางชนิดอาจถูกนำมาใช้หลอกลวง

             ข้อมูลบางชนิดอาจดูไม่น่าจะเป็นอันตรายในการแบ่งปัน เช่น วันเกิด ตำแหน่งหน้าที่การงาน การศึกษา ชื่อเพื่อน หรือแม้กระทั่งสีที่ชอบ แต่ผู้ไม่ประสงค์ดี อาจใช้ข้อมูลเหล่านี้ทำการฟิชชิง (phishing)เพื่อหลอกลวงเอาข้อมูลสำคัญของเราได้ เช่น เราอาจจะได้รับอีเมลปลอมจากธนาคารที่ระบุตำแหน่งหน้าที่การงานของเราได้ถูกต้อง ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นอีเมลจากธนาคารจริงและให้ข้อมูลที่สำคัญไป

ทรูมันนี่แนะสร้างเกราะป้องกันกลโกงออนไลน์แบบ "ห่าง-ปิด-ติด-จ่าย"

การรักษาข้อมูลที่ได้รับการปกป้องตามกฎหมาย

           ข้อมูลที่มีลิขสิทธิ์หรือข้อมูลส่วนตัว เช่น ผลงานเพลง ประวัติคนไข้ หรือหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน เป็นข้อมูลที่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายหากนำไปผแพร่ อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูล และผู้แบ่งปันอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอีกด้วย

รวมเส้นทางยื่นพอร์ต ''คณะนิติศาสตร์'' TCAS64 (14 สถาบัน) - TCASter